หัวใจสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรคือ ค่านิยมร่วมแห่งองค์กร ซึ่งเป็นแก่นวิธีคิด ความเชื่อ หรือหลักการสำคัญที่กำหนดขึ้นมาโดยผู้ก่อตั้งหรือสมาชิกรุ่นต่อ ๆ มาขององค์กร ส่งผ่านจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง โดยให้สมาชิกทุกคนยึดถือเป็นหลักสำคัญ เช่น ค่านิยมเกี่ยวกับความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า ค่านิยมเรื่องเรื่องความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี หรือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ก้าวหน้าเร็วกว่าคนอื่นตลอดเวลา หรือค่านิยมเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นต้น และให้สมาชิกทุกคนในองค์กรนำค่านิยมเหล่านั้นมาประยุกต์และปรับใช้ในทุก ๆ เรื่องในการทำงานและการตัดสินใจต่าง ๆ ประจำวัน
องค์กรธุรกิจไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมต่อการจัดการวัฒนธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง หลายองค์กรวัฒนธรรมองค์กรและค่านิยมร่วมต่าง ๆ เป็นเพียงแค่ข้อความบนกระดาษเพื่อรอให้หน่วยงานรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เข้ามาตรวจสอบนอกเหนือไปจากนี้แล้วระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ ในองค์กร ยังไม่ส่งเสริมการมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งอีกด้วย เช่น การนำเอาบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นผู้บริหารโดยไม่คำนึงถึงค่านิยมส่วนตัวว่าสามารถเข้ากันได้กับวัฒนธรรมและค่านิยมร่วมที่มีอยู่เดิมหรือไม่ บางทีนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดแต่ทำลายค่านิยมร่วมแห่งองค์กรเดิม หรือการที่ไม่ให้ความสำคัญกับพนักงานจนพนักงานลาออกบ่อย ๆ จนทำให้ค่านิยมร่วมแห่งองค์กรเกิดขึ้นได้ยาก เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการไม่บริหารจัดการค่านิยมร่วมแห่งองค์กรที่เห็นได้ ทั่วไปในภาคธุรกิจของไทย
วัฒนธรรมในองค์กรสามารถพัฒนาขึ้นได้ไม่เว้น แม้แต่องค์กรธุรกิจเล็ก ๆ เช่น การเอาใจใส่ลูกค้าเพื่อการบริการที่เป็นเลิศ โดยการยิ้มและบริการด้วยความเต็มใจ เหล่านี้ถือเป็นวัฒนธรรมที่ดีสำหรับธุรกิจบริการ ซึ่งไม่ว่าจะองค์กรใหญ่หรือเล็กล้วนต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อทำให้พนักงานทุกคนมีการตัดสินใจไปในทางเดียวกันและเดินหน้าไปด้วยกันตามจุดมุ่งหมายแห่งองค์กรนั่นเอง